ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : คิดแบบคนธรรมดาไปทำไม คิดแบบคนที่สำเร็จง่ายกว่า
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
ถอดรหัสชีวิตเเละความคิด 50 คนดังระดับโลก ที่จะสร้างเเรงบันดาลใจ ให้คุณพลิกชีวิตสู่ความสำเร็จ
หนังสือ
225.00 บาท
213.75 บาท
คอลัมน์ ดร.ณัชร จัดหนังสือ เล่มที่ 170 วันนี้ จะมาคุยถึงหนังสือชื่อ “คิดแบบคนธรรมดาไปทำไม คิดแบบคนที่สำเร็จง่ายกว่า” เขียนโดย
“ =ภาพรวม= หนังสือรวมชีวประวัติบุคคลชั้นเยี่ยมของโลก 49 ท่านเล่มนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านผู้อ่านอย่างสุด ๆ ค่ะ อย่าเพิ่งท้อนะคะถ้ารู้สึกว่าเล่มหนาและหนักเพราะประวัติของแต่ละท่านนั้นสั้น ๆ เพียง 2-3 หน้าเท่านั้นเองค่ะ แค่อ่านวันละรายท่านก็จะรู้สึกดีแล้วค่ะ ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
ไม่เพียงแต่ “วิธีคิด” ของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกในสาขาอาชีพหลากหลายจะสอนอะไรเราได้มากมายแล้ว ในส่วนประวัติชีวิตก็น่าศึกษามากค่ะ  ท่านจะพบรูปแบบบางอย่างที่คล้ายกัน  เช่น  การต้องเผชิญอุปสรรคอย่างหนักในชีวิต  ความช่างสังเกต ความกล้าหาญ ความเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ฯลฯ

ในเล่มแบ่งออกเป็น  1) คมความคิดจากนักสู้  2) คมความคิดจากนักคิดนอกกรอบ  3) คมความคิดจากผู้สร้างแรงบันดาลใจ  4) คมความคิดจากผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง  และ  5) คมความคิดจากผู้ให้ อีกทั้งแต่ละบทจะคั่นด้วยคำคมสร้างแรงบันดาลใจที่เยี่ยมยอดค่ะ

ถ้าท่านกำลังมองหาของขวัญที่มีประโยชน์จริง ๆ ให้กับใครสักคน  เล่มนี้ใช่เลยค่ะ

=น่าสนใจจากในเล่ม=  

*  พ่อของสตีเฟน สปีลเบิร์กเล่าว่าลูกชายเป็นเด็กที่ตื่นเต้นกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น  และสนใจจ้องมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่เสมอ

*  พ่อของนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ สอนลูกสาวเสมอว่า  “อย่าทำอะไรเพียงเพราะคนอื่นเขาทำกัน  แต่ต้องรู้จักคิดด้วยตัวเอง เชื่อมั่นในตนเอง  พยายามให้มากกว่าคนอื่น ๆ และรู้จักยอมรับความผิดพลาด”

*  แม้สตีเฟน ฮอว์กิง  นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกฉายา “ทายาทของไอน์สไตน์” จะป่วยจนพูดไม่ได้และเป็นอัมพาตยกเว้นนิ้วมือสองนิ้ว  แต่เขาก็ยังสรรสร้างผลงานทางวิชาการชิ้นสำคัญของโลกออกมาได้อย่างต่อเนื่อง  เขาบอกว่า  “คนเราไม่ควรสิ้นหวัง”

*  เคล็ดลับการทำงานของบียองเซ่  1) ตื่นแต่เช้าพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี  2) พยายามให้มาก ๆ และฝันให้ใหญ่เข้าไว้  3) ดูแลสุภาพ  4) ทำงานอย่างฉลาด  และ  5) เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ

*  เจเรอมี ลิน  นักบาส NBA เชื้อสายเอเชียที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมักมาถึงสนามเป็นคนแรก กลับเป็นคนสุดท้าย  ซ้อมอย่างหนักโดยไม่เคยบ่น  ถ่อมตัว และมักแสดงออกทางบวกกับทุกคน

*  เปาโล ฟาซีโอลี ผสมผสานความรักเปียโนเข้ากับทักษะทางวิศวกรรมเครื่องกล, ประสบการณ์ในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของที่บ้าน, การมองเห็นเป้าหมายอย่างชัดเจนด้วยความเชื่อมั่น และการค้นคว้าทุ่มเทอย่างถึงที่สุด จนกลายเป็นสุดยอดนักผลิตเปียโนของโลก

*  ทอม ฟอร์ด ดีไซเนอร์ใหญ่ของกุชชี่ในปี 2000 กล่าวว่า ลิยา เดเบเด นางแบบระดับโลกชาวเอธิโอเปีย “มีออร่าของความดีและความสงบที่สะกดใจผมได้”  และเซ็นสัญญาให้เธอเป็นนางแบบประจำของกุชชี่  สิ่งที่ลิยาทำมาโดยตลอดคือทุ่มเทกับงานช่วยเหลือผู้ยากไร้จนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

*  เซเรนา วิลเลียมส์ กล่าวว่า  ไม่ว่าจะทำอะไร  เธอจะทุ่มเท 200% เสมอ

*  โมนีค ฟาน เดอ ฟอร์ส สามารถเอาชนะโรคร้ายและอุบัติเหตุที่ทำให้เธอเป็นอัมพาต ฟื้นตัวขึ้นมาจากการมุ่งมั่นทำกายภาพบำบัดอย่างไม่ย่อท้อจนสามารถเข้าร่วมทีมจักรยานระดับท็อปของเนเธอร์แลนด์ได้

*  เมื่อโทมัส ทรานสโตรเมอร์ กวีเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2011 เกิดหัวใจวายเฉียบพลันในปี 1990 แล้วไม่สามารถพูดและขยับร่างกายซีกขวาได้  เขาไม่เคยหมดกำลังใจ หันมาพัฒนามือซ้ายด้วยการเล่นเปียโน และสามารถสร้างงานเขียนระดับโลกออกมาได้อีกอย่างต่อเนื่อง

*  มาร์ทา ดา ซิลวา สุดยอดนักฟุตบอลหญิงระดับโลกชาวบราซิลผู้ชื่นชอบการเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กนั้นโดนกลั่นแกล้งไม่ให้เล่นมาโดยตลอด ถึงขนาดเคยโดนพี่ชายคนโตลงไม้ลงมือกับเธอเพื่อห้ามเธอเล่น

*  สตีฟ จอบส์ – “...บางครั้งชีวิตอาจทำให้คุณเจ็บ  แต่จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่น  สิ่งเดียวที่ทำให้ผมลุกขึ้นสู้ต่อคือความรักในสิ่งที่ผมทำ...คุณจะสามารถสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้ด้วยการ “รัก” ในสิ่งที่คุณทำเท่านั้น...”

*  นาตาลี พอร์ตแมน นักแสดงหญิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ  รู้ตัวตั้งแต่อายุ 8 ขวบว่าต้องการจะเป็นมังสวิรัติตลอดชีวิต  นอกจากเรียนเก่งระดับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว  เธอยังทุ่มเทให้กับงานสาธารณกุศลอีกมากมายหลายองค์กรอีกด้วย

*  เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลายประเภทมากเป็นผู้ที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Dyslexia)  ทำให้ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านออกเขียนได้เหมือนคนอื่น  ความฝันล่าสุดของเขาอยู่ที่การทุ่มเทพิทักษ์โลกให้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นหลังอย่างน้อยอีก 7 รุ่น

*  ทะดะโอะ อันโดะ สถาปนิกชื่อดังระดับโลก ศึกษาวิชาสถาปนิกด้วยตนเอง เมื่อเทียบกับอาคารอื่น ๆ ที่พังทลายในแผ่นดินไหวที่โกเบ  อาคารที่เขาสร้างทั้ง 35 หลังกลับเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เขาได้ใช้เงินรางวัล 100,000 เหรียญที่ได้จาก “รางวัลโนเบลสำหรับสถาปนิก” ก่อตั้งมูลนิธิสำหรับเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

*  ถึงแม้จะขึ้นธุรกิจอีเบย์ของเขาจะทำรายได้หลายพันล้านเหรียญภายในไตรมาสเดียว  แต่ปีแอร์ โอมิดียาร์ กลับตัดสินใจวางมือจากงานบริหารและหันหน้ามาทำการกุศลแทนด้วยความรู้สึกว่าต้องตอบแทนสังคม  เขาวางแผนจะมอบเงิน 99% ของเขาให้กับการกุศลในอีกยี่สิบปีข้างหน้า และเหลือไว้ใช้เพียง 1% เท่านั้น

*  เจมี่ โอลิเวอร์  เชฟระดับโลกเป็นผู้มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง อ่านหนังสือออกช้ามากแต่รักการทำอาหารตั้งแต่เด็ก  ทุกวันนี้เขาประสบความสำเร็จทั้งในฐานะผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่โด่งดัง ทำภัตตาคาร เขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารหลายเล่ม  ทำการกุศลมากมาย และรณรงค์ให้เด็ก ๆ รู้จักกินอาหารที่มีคุณค่าจนรัฐบาลอังกฤษต้องออกปฏิญญาในการดูแลเรื่องสารอาหารสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก

*  อิงวาร์ คัมปราด ผู้ก่อตั้งและเจ้าของอิเกีย มีอาการเรียนรู้บกพร่องแต่มีหัวการค้ามากกว่าเด็กวัยเดียวกันมาก  เริ่มทำธุรกิจครั้งแรกด้วยการใช้โรงเก็บของในสวนขายเมล็ดพันธุ์พืช ภายในปีเดียวก็เก็บเงินซื้อจักรยานได้  เป็นคนช่างสังเกต สามารถเล็งเห็นโอกาสได้มากกว่าผู้อื่น  มัธยัสถ์  ให้ความสำคัญกับพนักงาน  และใช้วิธีแบ่งเวลาในชีวิตเป็นหน่วยย่อย ๆ 10 นาทีแล้วพยายามใช้เวลาแต่ละหน่วยให้สูญเปล่าน้อยที่สุด

*  เคล็ดลับของทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้ง “ยูนิโคล่” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น คือ  1) อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าตนไม่เหมาะกับงานใด  แต่ควรลองทำดูก่อน  2)  จงเชื่อมั่น  อย่ายอมให้ใครมาบอกว่า “ทำไม่ได้”  3) คำนึงถึงคุณภาพอย่างที่สุด  4) เรียนรู้จากข้อผิดพลาด  5) การตอบแทนโลกและสังคมสำคัญยิ่งกว่าการทำยออดการขาย

*  องค์ทะไลลามะ – “...อาตมาเป็นเพียงภิกษุรูปหนึ่ง ไม่มีอะไรมากกว่านี้...”  “...อาตมาพบว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมากจากการพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจ  ยิ่งเราห่วงใยในทุกข์สุขของผู้อื่น  เรายิ่งเป็นสุข...”

*  คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง  ถูกให้ออกจากชั้นประถมหนึ่งหลังจากเริ่มเข้าเรียนได้ไม่กี่วันเพราะเธอชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่รบกวนสมาธิของเพื่อน ๆ  แต่เธอได้แรงบันดาลใจจากครูใหญ่ในโรงเรียนใหม่จนประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน และได้เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตของยูนิเซฟด้วย

*  แอนโทนี รอบบินส์ นักสร้างพลังชีวิต (Life Coach) ชื่อดังมีชีวิตวัยเด็กที่กระพร่องกระแพร่ง  เริ่มหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่อายุ 17 ปีด้วยการเป็นภารโรงรับค่าจ้างเพียงสัปดาห์ละ 40 ดอลลาร์  ถึงแม้จะไม่ได้เรียนต่อแต่ก็เป็นนักอ่านตัวยง  เขากล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตที่มีความสุขคือการทำตนให้เป็นคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ”

*  ศาสตราจารย์อมารตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ได้รับอิทธิพลความเป็นนักวิชาการจากครอบครัวตั้งแต่เด็ก  เป็นคนแรกที่ประกาศให้โลกตระหนักว่าบรรทัดฐานในการวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับความสุขของประชาชน  ตอนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 คณะกรรมการสดุดีท่านว่า  “เป็นผู้ฟื้นฟูมิติด้านจริยธรรมให้กลับคืนมาสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง”

*  เฉิน กวงเปียว มหาเศรษฐีระดับแนวหน้าของจีนเป็นลูกชาวนาที่ยากจนมากถึงขนาดเคยสูญเสียพี่น้องไปเพราะความอดอยากถึงสองคน  ถึงจะจนพ่อก็ไม่เคยสอนให้ลูกเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่เงิน  แต่สอนว่าคนดีคือคนที่อดทนและมีน้ำใจ  เมื่ออายุ 10 ปีเขาต้องใช้เวลาพักเที่ยงหาบน้ำจากบ่อน้ำที่อยู่ห่างหมู่บ้าน 2 ก.ม.เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน  และช่วงหน้าร้อนทำงานเพิ่มจนส่งเสียเพื่อนบ้านวัยเดียวกันได้ด้วย

ทุกวันนี้เขายังใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และรักภรรรยาและลูก ๆ มาก  ช่วงปิดเทอมเขาจะพาครอบครัวไปอยู่กับคนยากจนที่เขาเคยช่วยเหลือในชนบทเพื่อให้ลูก ๆ รู้จักความทุกข์ยากที่คนจนต้องเผชิญ  เขาตั้งเป้าจะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับการกุศลหลังจากเขาเสียชีวิต  “พ่อแม่ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้ผม  และผมก็ไม่ปรารถนาจะทิ้งอะไรไว้ให้ลูก ๆ นอกจากความมั่งคั่งทางจิตวิญญาณ  ซึ่งได้มาจากการทำงานการกุศล”

ซึ่งเขาก็น่าจะสบายใจได้  เพราะลูกชายคนเล็กของเขาเคยพูดว่า “...พ่อของผมเป็นคนใจบุญระดับท็อปของประเทศจีน  แต่ผมจะเป็นคนใจบุญระดับท็อปของโลก...”

*  เอคฮาร์ท ทอลเลอ กูรูด้านจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียง เจ้าของผลงานหนังสือ The Power of Now พบว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความไม่เป็ฯมิตร  จึงขอพ่อออกมาอยู่บ้าน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือนานาชนิด หลากหลายภาษา  เริ่มทำงานเป็นมัคคุเทศก์ตั้งแต่อายุ 17  เคยเป็นโรคซึมเศร้าเกลียดตนเองคิดฆ่าตัวตายจนกระทั่งเกิดความตระหนักรู้ขึ้นมาคืนหนึ่งว่า หากเขาสามารถเกลียดตนเองได้  แสดงว่าผู้เกลียดและผู้ถูกเกลียดไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  ต้องมีคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นตัวจริง  แล้วเขาก็สลบไป  เมื่อเขาฟื้นขึ้นเขารู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่  เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสวนสาธารณะ  มีผู้คนจำนวนมากสังเกตเห็นว่าเขามีความสุขอย่างยิ่งและมาขอให้เขาสอน

*  ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิที่ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นระดับโลกรู้ตัวว่าต้องการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นตั้งแต่เด็กเพื่อให้เด็ก ๆ มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเพื่อยืนหยัดในความดีงาม 

*  โบโน นักร้องนำวงร็อค ยูทู ที่โด่งดังและนักการกุศลระดับโลก สมัยเด็กลำบากมาก อดมากกว่าอิ่มจึงเข้าใจคนที่ขาดแคลนเป็นอย่างดี  เขาร่วมก่อตั้งและสนับสนุนองค์กรการกุศลมากมาย  เขาตั้งชื่อวงว่ายูทูเพราะต้องการให้คนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้เช่นกัน

*  เอลา ราเมช ภัตต์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวอินเดียเกิดในวรรณะพราหมณ์แต่ชอบอุทิศตัวช่วยเหลือคนยากจนโดยเฉพาะสตรีอินเดียที่ตกอยู่ในฐานะพลเมืองชั้นสอง  เธอก่อตั้งธนาคารรายย่อยสำหรับสตรีเพื่อให้เงินกู้ผู้หญิงที่ต้องการสร้างอาชีพให้ตนเองและได้เปลี่ยนชีวิตสตรีอินเดียหลายล้านคน

*  “...ความฝันของคุณต้องยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คุณจะสามารถทำได้สำเร็จ  ถ้าความฝันไม่ทำให้คุณกลัว นั่นแปลว่ามันยังยิ่งใหญ่ไม่พอ...”  -- เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ  ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไลบีเรียและคนแรกของทวีปแอฟริกา  เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2011 กล่าวในสุนทรพจน์วันจบการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

*  กีรัน เบดี  “นายตำรวจหญิงคนแรกของอินเดีย”  ได้รับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ตั้งแต่เด็กให้เรียนอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ  หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงจำนวนมากมายของเธอคือการจัดคอร์สวิปัสสนาในเรือนจำขึ้น  ซึ่งปรากฏว่าสามารถฟื้นฟูจิตใจทั้งของนักโทษและผู้คุมได้เป็นอย่างดี  ทำให้คุกกลายเป็นสถานที่ฟื้นฟูและปฏิรูปพลเมืองอย่างแท้จริง

*  วังการี มาทาอี  สตรีนักรณรงค์การปลูกต้นไม้และสร้างงานให้คนจนชาวเคนยาเคยโดนกลั่นแกล้งมากมาย  แม้แต่รัฐบาลที่มองเธอเป็นปรปักษ์ก็เคยจับเธอคุมขังหลายครั้ง  แต่เธอไม่เคยท้อ  และในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้ง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในที่สุดในปี 2004  นับเป็นสตรีชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

*  แม้จะเคยโดนรัฐบาลชาวผิวขาวของแอฟริกาใต้จับขังคุกและให้ทำงานหนักมาตลอด 26 ปี  เนลสัน แมนเดลาก็ทำให้เพื่อนร่วมชาติชาวแอฟริกันผิวขาวรู้ได้ผ่านรอยยิ้มอันกระจ่างสดใสว่าเขาไม่มีความเคียดแค้นหลงเหลืออยู่

*  บิล เกตส์ อดีตบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก เจ้าของทรัพย์สินมูลค่ากว่า 82,000 ล้านดอลลาร์ตัดสินใจอำลาตำแหน่งซีอีโออย่างถาวรเพื่อทุ่มเทเวลา กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์เพื่อการกุศล  เขาตั้งใจจะแบ่งมรดกให้ลูก ๆ เพียงคนละ 10 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

*  เปาโล โคเอโย นักเขียนชื่อดังชาวบราซิลผู้มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ถึง 9.6 ล้านคน  ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักเขียนที่ดังที่สุดหรือรวยที่สุด แต่ก็มีความสุขมากเพราะเป็นคนชอบทำการกุศล  เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อแบ่งปัน  เขาเคยโพสต์หนังสือของเขาทั้งเล่มลงในอินเทอร์เน็ตฟรี ๆ แต่กลายเป็นว่าคนกลับซื้อหนังสือของเขามากกว่าเดิม ยอดขายทะลุล้านเล่มภายในเวลาเพียง 3 ปี  จนถึงทุกวันนี้เขาไม่เคยคิดจะปกป้องลิขสิทธิ์ของตนเอง  เขาเขียนเพราะอยากแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ร่วมกับคนทั่วไป

*  เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์หญิงรางวัลโนเบลคนแรกและคนเดียวของโลก  ได้รับรางวัลจากผลงานวิเคราะห์ธรรมาภิบาลทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสมาชิกทุกคนในชุมชน  เธอเชื่อมั่นในการแบ่งปันกันอย่างยิ่ง  แม้แต่ข้อมูลการทำวิจัย เธอมองว่าถ้ามีการรวบรวมและแบ่งปันกันก็จะทำให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

*  แม่ของจิมมี่ เวลส์ ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อสารานุกรมโลกชุดใหญ่ให้ลูกชาย  และเขาก็ไม่ทำให้แม่ผิดหวังด้วยการเป็นคนรักการอ่านและชอบอ่านหนังสือทุกประเภท  ในที่สุดเขาก็ตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ วิกิพีเดีย ขึ้นมา  โดยไม่คิดเงินผู้ใช้  เขาเชื่อว่า “ความรู้ไม่มีราคา”  ทุกวันนี้วิกิพีเดียมีบทความกว่า 17 ล้านชิ้น เขียนด้วยภาษาต่าง ๆ กว่า 270 ภาษา มีอาสาสมัครมากกว่าหนึ่งแสนคน  ติดอันดับเว็บไซต์ที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในปีค.ศ. 2014

*  “...มนุษย์ควรช่วยเหลือกันและกัน  เพราะระหว่างที่เรากำลังให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่นั้น  เราก็จะค้นพบความสุขภายในใจของเราเองด้วย...”  -- เจ็ท ลี  นักแสดงชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นฮีโร่นอกจอ ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิการกุศลช่วยเหลือคนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ประสบภัยพิบัติ  เขาคิดตั้งมูลนิธิขึ้นมาหลังจากมีผู้ช่วยให้เขาและครอบครัวรอดตายจากเหตุสึนามิในปี 2004  วันนั้นเขาตัดสินใจว่า  จากนี้ไปเขาจะมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

*  ถึงแม้ครอบครัวของมุฮัมหมัด ยูนัส ยากจนมาก แต่พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เขาเรียนหนังสือและมอบความรักให้เต็มที่ จึงทำให้เขาเติบโตมาเป็นคนมองโลกในแง่ดีและโอบอ้อมอารี  เขามองเห็นโอกาสในการที่จะแก้ปัญหาคนจนไม่มีเงินทุนทำกินได้ จึงตั้ง กรามีนแบงค์ (ธนาคารหมู่บ้าน)  ถึงแม้จะได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่ายในตอนแรก  แต่เขาสามารถใช้กรามีนแบงค์ลดอัตราความยากจนของบังคลาเทศจากร้อยละ 74 ในปี 1974 เหลือร้อยละ 40 ในปี 2005  และกลายเป็นธนาคารต้นแบบที่กว่า 100 ประเทศนำไปแก้ปัญหาความยากจน  ในที่สุดเขาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006

*  ชีฟ นาดาร์ มหาเศรษฐีใจบุญชาวอินเดียชอบทำบุญด้วยการให้ความรู้  เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าต้องเริ่มที่การศึกษาเป็นอันดับแรก  เขาอุปการะเด็กปีละหลายพันคนและบริจาคเพื่อการศึกษาไปแล้วกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

*  เนปาลเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อกระจกมากกว่าที่ใดในโลก คือ ประมาณปีละ 150,000 คน  แต่ก็มีจำนวนของผู้ที่ตาบอดแล้วกลับมาเห็นใหม่มากที่สุดในโลกเช่นกัน คือ 100,000 คน  โดยฝีมือของนพ.ซานดุ๊ก รูอิทหมอใจบุญผู้เสียสละอาสาไปผ่าตัดให้ฟรีและคิดค้นเลนส์ตาเทียมราคาถูกกว่าท้องตลาดได้ถึง 50 เท่าจนโดนโจมตีจากเจ้าตลาดเดิม ๆ  คุณหมอรูอิทไม่หวงวิชาและพยายามถ่ายทอดเทคนิคออกสู่แพทย์รุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด  เขาได้รับรางวัลแม็กไซไซในปี 2006 และรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขในปี 2007

*  หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ประจำปี 2010 เป็นแม่ค้าขายผักชาวไต้หวันชื่อ เฉิน ซู่จวี๋  เธอตื่นตีสองตีสามเพื่อไปซื้อผักในตลาดขายส่งเพื่อมาขายที่ร้านของเธอทุกวันจนถึง 2 ทุ่ม  เธอใช้ชีวิตอย่างสมถะและอดออม จนสามารถแบ่งรายได้เพื่อบริจาคให้สถานเด็กกำพร้า โรงเรียน ฯลฯ ไปแล้วกว่า 10 ล้านดอลล่าร์ไต้หวัน  แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นช่วยเหลือผู้อื่นคือเมื่อตอนเธอเด็ก ๆ และยากจนมาก เคยมีเพื่อนบ้านและครูของน้องชายให้ความช่วยเหลือเมื่อแม่และน้องชายของเธอป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลแต่ครอบครัวเธอไม่มีเงิน

*  แม้จะมีงานล้นมือ  แต่เฉินหลงก็จะแบ่งเวลาเพื่อทำการกุศลอย่างสม่ำเสมอ  นอกจากมูลนิธิของเขาเอง เขายังช่วยองค์กรการกุศลอื่น ๆ และเป็นทูตของสหประชาชาติอีกด้วย  เขาชอบทำการกุศลเพราะตอนเด็ก ๆ ตัวเขาเองก็เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน

*  แมนนี่ ปาเกียว นักชกระดับโลกชาวฟิลิปปินส์ สมัยเด็กเคยยากจนมากและเคยเป็นเด็กจรจัดขายของตามสี่แยกและอาศัยกล่องกระดาษนอน  ทุกวันนี้เขาทำการกุศลมากมาย  มอบทุนการศึกษาแก่เด็ก ๆ ไปแล้วกว่า 250 คน บริจาคเงินให้โรงพยาบาล 300 แห่ง และมักทำทานครั้งใหญ่ในวันเกิดทุกครั้ง  เขาเชื่อว่าเขาได้รับโอกาสจากผู้อื่นมามาก  จึงต้องตอบแทนด้วยการเป็นผู้ให้บ้าง

หนังสือชื่อ “คิดแบบคนธรรมดาไปทำไม  คิดแบบคนที่สำเร็จง่ายกว่า” โดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Secret สำนักพิมพ์ Amarin How-To  กุมภาพันธ์ 2558   305 หน้า ราคา 225 บาท  มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำและเวบไซต์ร้านหนังสือทั่วไป
------------------------------------------------------------------
เกร็ดน่ารู้:

*  เด็กสิงคโปร์และเวียดนามอ่านหนังสือเล่มโดยเฉลี่ยปีละ 60 เล่ม/คน 

*  คนไทยถึง 40% ไม่อ่านหนังสือเล่มใด ๆ เลย  

*  แม้ในหมู่คนไทยที่อ่านหนังสือก็อ่านโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 4 เล่ม/คน  

คอลัมน์  “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” นี้ จึงมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติค่ะ

มาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการมอบหนังสือเป็นของขวัญในทุกโอกาสนะคะ  

ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)